วันอังคารที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการลดความอ้วน

เรื่องของ อาการหิวโหยช่วงก่อนมีประจำเดือนนั้นเป็นกันแทบทุกรายในผู้หญิง และก็เป็นกระทู้รายเดือนอีกเช่นกันครับใน "คลับลดความอ้วน"

วันนี้เลยขอนำความรู้ต่าง ๆ ที่ผมได้ผ่านตา มาเผยแพร่นะครับ ซึ่งอาจจะพอทำให้คุณผู้หญิงที่ลดความอ้วนอยู่ "มองโลกในแง่ดี" ขึ้นมาบ้าง และ "ไม่เครียดจนเกินไป" ในช่วงที่มีประจำเดือน

โดยปกติแล้ว ผู้หญิงส่วนใหญ่จะโหยหาอาหารประเภท คาร์โบไฮเดรต ช่วงก่อนที่จะมีประจำเดือน (สามวันก่อนมีประจำเดือนจะโหยสุด ๆ) ทั้งนี้เพราะว่าฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตามสิ่งที่คนลดความอ้วนพยายามทำกันก็คือ พยายามที่จะจำกัดอาหารให้เท่ากับที่ตนเองเคยรับประทานมาก่อนหน้านี้ แต่สุดท้ายก็ทนกันไม่ได้ เกิดอาการตะบะแตก และรับประทานไม่หยุดโดยเฉพาะอาหารขยะที่มีแคลอรี่และคาร์โบไฮเดรตสูง ทั้งนี้เพราะอาหารดังกล่าวสามารถตอบสนองความต้องการของร่างกายได้อย่างรวดเร็ว

สิ่งหนึ่งที่หลาย ๆ คนมองข้ามไปก็คือ ช่วงก่อนมีประจำเดือนนั้น การเผาผลาญพลังงานของร่างกายก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยการนี้ Barr, Janelle, และ Prior (1995) ได้ทำการทดลองเรื่องการเผาผลาญพลังงานช่วงก่อนมีประจำเดือน และพบว่าการเผาผลาญพลังงานในช่วงก่อนมีประจำเดือนนั้นเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 100-500 Kcal/วัน (แล้วแต่บุคคล) เช่นกัน

ในประเด็นดังกล่าวนี้ Clark (1997) แนะนำว่า ให้คุณผู้หญิงที่ลดความอ้วนทุกคนที่มีอาการหิวโหยในช่วงเวลาก่อนที่มีประจำเดือนรับประทานอาหารได้เพิ่มมากขึ้น 200-500 Kcal /วัน (ห้ามเกินกว่านี้เด็ดขาด) ซึ่งนั้นก็พอ ๆ กับอาหารอีก 1 มื้อ เช่นกัน

ดังนั้น หากคุณโหยหาอาหารช่วงก่อนมีประจำเดือนก็ทานเถอะครับ อย่าหักห้ามใจตัวเองให้มากนัก การที่หักห้ามใจไม่ทานอะไรเลยในช่วงก่อนที่จะมีประจำเดือนมักจะส่งผลเสียกับการลดน้ำหนัก เพราะโดยปกติแล้วส่วนใหญ่มักจะหักห้ามใจตนเองกันไม่ได้ และก็มักจะจบด้วยอาหารขยะทั้งหลาย สาเหตุหลักก็เพราะว่าเมื่อความอดทนถึงขีดสุด ความอยากอาหารก็จะปะทุออกมาอย่างรุนแรง เมื่อความอยากอาหารที่ประทุออกมามีมาก อาหารที่สามารถตอบสนองความอยากดังกล่าวได้ดีที่สุดก็มักเป็นอาหารขยะทั้งหลาย สุดท้ายก็มักจะจบลงด้วยการกินเกินกว่า 500 Kcal

ดังนั้น คุณผู้หญิงควรจะเลือกกินอาหารที่เป็นประโยชน์เมื่อความหิวเริ่มประทุขึ้น อย่ารอให้ความหิวโหยดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึงขีดสุด ไม่อย่างงั้นคุณอาจจะควบคุมมันไม่ได้ โดยการนี้อาจจะค่อย ๆ เพิ่มการรับประทานขึ้นมาแล้วดูว่าปริมาณอาหารแค่ไห สามารถบรรเทาอาการความหิวโหยของคุณได้ โดยไม่ควรเพิ่มขึ้นเกินกว่า 500 Kcal /วัน ช่วงก่อนมีประจำเดือน

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าคุณจะพยายามสุดความสามารถแล้วแต่ก็ไม่สามารถลดความหิวโหยดังกล่าวได้ ก็ไม่ควรคิดมากจนเกินไปครับ อย่าลืมนะครับว่าการเผาผลาญของคุณก็จะสูงขึ้นมากกว่าปกติอยู่แล้วในช่วงดังกล่าว นอกจากนี้แล้วหากมองโลกในแง่ดีการที่คุณทานมากขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ ขณะที่คุณลดความอ้วนอยู่ ยังเป็นการกระตุ้นฮอร์โมน Leptin ให้ทำงานได้ดีขึ้นและสุดท้ายก็จะส่งผลให้ระบบการเผาผลาญของคุณดีในระยะยาวอีกด้วย

อ้างอิง

Clark,N, 1997, Nancy Clark's sport nutrition guidebook, Human Kinetics,U.S.A.

Barrs,S.,Janelle, K.C., and Prior J.C., "Energy intakes are higher during the luteal phase of ovulation menstrual cycles", Am J Clin Nutr, No.61 ,pp.39-43.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น